วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

15 โรคที่มากับฝน


             กระทรวงสาธารณสุขแนะนำโรค 15 ชนิดที่มักจะมากับหน้าฝน พร้อมสั่งการให้สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล จับตาโรคดังกล่าวงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าโรคที่มักมาพร้อมฤดูฝนที่พบบ่อยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อย มี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินสุกๆ ดิบๆ

   2.กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวม มีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย

    3.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นของโรคนี้คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง

     4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ไข้สมองอักเสบ เจ อี (ตัวนำโรคมาจากยุงรำคาญ ซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนา และโรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้ อาการเริ่มจากมีไข้สูงปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้


       5.กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา

     นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่พบได้ในฤดูฝนทุกปี ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา เกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนานๆ หรือเดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตกนัก การถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยในบ้านเรือน และโรคอาหารเป็นพิษจากกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า

ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝนในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน -กันยายน พบผู้ป่วยจาก 15 โรคฤดูฝน 658,429 คน มากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 397,703 คน รองลงมาคือโรคปอดบวม 63,945 คน และไข้หวัดใหญ่ 32,950 คน เสียชีวิตรวม 551 คน

และจากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝนในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน พบผู้ป่วยจาก 15 โรคฤดูฝน 658,429 คน โดยโรคที่บมากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 397,703 คน รองลงมาคือโรคปอดบวม 63,945 คน และไข้หวัดใหญ่ 32,950 คน เสียชีวิตรวม 551 คน โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต มากที่สุดอันดับ 1 มาจากโรคปอดบวม 401 คน โรคฉี่หนู 74 คน ไข้เลือดออก 40 คน และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 21 คน

กระทรวงสาธารณสุข จึงสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาโรคต่าง ๆ เป็นพิเศษเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 ขอให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด โดยโรคที่ต้องติดตามต่อเนื่องคือโรคไข้หวัดนก ที่ไทยไม่พบผู้ป่วยมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี

สิงคโปร์ ประเทศที่คนอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่มต่อคน

  "การอ่าน..เป็นนิสัยที่ดีที่สุดในการบ่มเพาะสติปัญญา แม้ในโลกปัจจุบันผู้คนนิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนรักการอ่านหนังสือผุดขึ้นมากมายทั่วโลก อย่างโครงการ "หนึ่งเล่มหนึ่งเมือง" ของสหรัฐอเมริกาขณะที่เรามีโครงการ"มาอ่านหนังสือกันเถอะ!สิงคโปร์" ซึ่งโครงการนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายจากหลากหลายอาชีพมาจัดตั้งชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้น เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ครู ช่างทำผม เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ พนักงานโรงแรมและบริการ กลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชน ประชาชนทั่วไป หัวหน้าองค์กรรากหญ้า รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันมีชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้นมากกว่า 90 แห่ง
เราดีใจที่เห็นคนทุกกลุ่มหันมาสนใจการอ่าน และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จก็มีการไปอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำอีก เพราะประเด็นที่พูดคุยกันมีหลากหลาย น่าสนใจ ทำให้เราสนใจและกลับไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ เราเห็นว่าคนที่มาทำกิจกรรมร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากจะส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนอีกด้วย " นาง เกียง-โก๊ะ ไล ลิน กล่าว
ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน ย้ำว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยทุกอาชีพหันมาสนใจการอ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่การให้ประชาชนมาอ่านหนังสือแล้วจบไป แต่เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจากหนังสือที่อ่านเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อมุ่งพัฒนาให้คนสิงคโปร์มีทักษะการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ

วันมหิดล 24 กันยายน



ความหมาย

24 กันยายน วันมหิดล เป็น วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระราชชนกที่ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ของไทย

ความเป็นมา
     สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ในเบื้องต้น ได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุข และวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากเสด็จกลับมาเมืองไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย

      ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้างมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2493 และในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพร้อมต้องกันว่าให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์โดยให้ชื่อว่า วันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2494 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป