นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียเผย พื้นที่ในชั้นใต้ดินส่วนใหญ่ของดาวอังคารรองรับสิ่งมีชีวิตประเภทจุลชีพได้ หลังศึกษาวิจัยด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลเปรียบเทียบกับระบบนิเวศน์โลก
ชาร์ลีย์ ไลน์วีฟเวอร์ และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย จัดทำการศึกษาเปรียบเทียบตัวแบบอุณหภูมิและแรงกดอากาศบนโลกกับดาวอังคาร เพื่อชี้วัดความแตกต่างและความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคาร ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในนิตยาสาร "Astrobiology" ในวันจันทร์
หลังจากที่มีการค้นพบน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกของดาวอังคาร งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาว่า บริเวณใดของดาวอังคารที่สามารถรักษาปริมาณน้ำได้มากพอ จนเอื้อต่อการใช้ชีวิตของสิ่งมีชีวิตประเภทจุลชีพคล้ายคลึงกับที่พบบนโลก โดยนำเอาข้อมูลที่เคยมีการเก็บมาทั้งหมดในระยะเวลากว่า 10 ปีมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกัน แตกต่างจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่นิยมศึกษาเป็นพื้นที่ ๆ ไป
รายงานชี้ว่า หากเปรียบเทียบสัดส่วนพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ โดยนับตั้งแต่แกนกลางของโลกไปจนถึงชั้นบรรยากาศส่วนบน โลกมีพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เพียง 1% เท่านั้น ในขณะที่ดาวอังคารมีพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ถึง 3% เพียงแต่ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ชั้นใต้ดิน
ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารที่มีความกดดันต่ำ ทำให้น้ำไม่สามารถรักษาสถานะของเหลวบนผิวดาวและระเหยในทันที ทว่า ไลน์วีฟเวอร์กล่าวว่า ชั้นใต้ผิวดินของดาวอังคารมีแรงกดดันที่เพียงพอต่อการคงสถานะของเหลวของน้ำเอาไว้
นอกจากนี้ แม้อุณหภูมิพื้นผิวดาวอังคารจะอยู่ที่ -63 องศาเซลเซียส แต่ใต้ผิวดินมีความอบอุ่นเพียงพอต่อการอาศัยอยู่ของจุลชีพ เนื่องจากได้รับความร้อนที่แผ่กระจายมาจากแกนกลางของดาว
ไลน์วีฟเวอร์ยืนยันว่า งานวิจัยของเขาเป็นการศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน และนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะมนุษย์ก็วิวัฒนาการมาจากจุลชีพเช่นกัน